วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พะยูนไม้เทพทาโร สินค้าต้านยาเสพติด



คุณเรวัฒน์ ปานทน ชายหนุ่มคนขยันผู้มีหัวใจต่อต้านยาเสพติด วัย 33 ปี มิอาจนิ่งดูดายเมื่อเห็นเยาวชนไทยคนแล้วคนเล่าในหมู่บ้านของตนต้องตกเป็นทาสยาเสพติด เหตุผลนี้เพียงพอให้ตกลงใจก่อตั้ง "กลุ่มเยาวชนต้านยาเสพติด" ขึ้นในปี 2544 ด้วยวัตถุประสงค์แปลงแรงงานและฝีมือเพื่อดึงเยาวชน ผู้สนใจ นำเวลาว่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กำรายได้เข้ากระเป๋า ไม่หันหาพึ่งพายาเสพติดอีก

นอกจากนั้น ยังแบ่งเงินส่วนของกำไรสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนในตำบล อันส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างสรรค์สิ่งดี สมานสามัคคี

ไม้เทพทาโรนำมาใช้ อายุโค่นทิ้งไว้ 30 ปี

คุณเรวัฒน์ กล่าวถึงความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ประจำกลุ่มเยาวชนต้านยาเสพติด อันสืบเนื่องด้วย ตำบลเขากอบ จังหวัดตรัง มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง อย่างถ้ำเลเขากอบ ในปีหนึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งเดินทางมาด้วยตนเอง และกับบริษัททัวร์ ซึ่งนำคณะผู้ร่วมทางมาเยือนมากราย เหตุนี้จึงคิดถึงผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก อันแสดงออกถึงจังหวัดตรัง นั่นคือพะยูน

ส่วนของวัตถุดิบเลือกหาภายในพื้นถิ่น สนนราคาไม่แพง เพราะเงินทุนเบื้องต้นรวมได้จากสมาชิกเพียง 40,000 บาท ถือว่าไม่มาก สำหรับการจัดตั้งกลุ่มซึ่งมีจำนวนสมาชิก 10 คน

"ไม้เทพทาโร" คือวัตถุดิบซึ่งคุณเรวัฒน์นึกถึง โดยเล่าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ไม้เทพทาโร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่ตามป่าดงดิบและมีจำนวนมากทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่ด้วยผู้คนสนใจหันมาปลูกยางพารา กอปรกับต้องการใช้พื้นที่สร้างบ้านพักอาศัย ต้นเทพทาโรจึงถูกโค่นทิ้ง

ตอไม้เทพทาโรจำนวนมากภายในสวนยางพารา ถูกขุดขึ้นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และของประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งในเบื้องต้นไม่ต้องซื้อหา เพราะชาวสวนยางพาราเต็มใจให้ ขอเพียงหลังขุดตอออกแล้ว นำดินกลบหลุมให้เรียบร้อย ฉะนั้นเงินจำนวน 40,000 บาท จึงถูกใช้ไปไม่มาก กับการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ผลิต ได้แก่ มีด สิ่ว เครื่องกลึง โดยแหล่งจำหน่ายภายในจังหวัดตรัง

สำหรับตอไม้เทพทาโรเหมาะนำมาผลิตสินค้า ควรมีอายุหลังโค่นล้มไม่ต่ำกว่า 30 ปี โดยสังเกตบริเวณเปลือกของตอไม้ที่ฝังอยู่ภายในดินหลุดลอกออกเหลือแต่แกน

เมื่อได้ตอไม้แล้ว ก่อนผลิตล้างน้ำให้สะอาด วัดขนาดตามแบบกำหนดไว้ ตัดไม้ ใช้มีดสับให้เกิดรูปทรงคร่าวๆ เหลาไม้กระทั่งได้รูปร่างอย่างต้องการ พร้อมเก็บรายละเอียด เรียบร้อยนำไปผึ่งแดด 4-5 ชั่วโมง

ก่อไฟบนเตา นำผลิตภัณฑ์ใส่ตะแกรงวางลงบนเตา ลักษณะคล้ายการย่างปลา จนกว่าเนื้อไม้แห้ง จึงนำออกมาขัดด้วยกระดาษทราย เบอร์ 0 กระทั่งถึงเบอร์ละเอียดสุด
ส่วนของรูปทรง นำเศษไม้มาเหลาส่วนครีบ แล้วประกอบเข้ากับลำตัว ใช้ลูกปัดเสียบติดเป็นลูกตา จากนั้นนำสิ่วตกแต่งรอยย่นบริเวณลำตัว อันเป็นรูปลักษณ์ของพะยูน ขั้นตอนสุดท้ายประกอบผลิตภัณฑ์เข้ากับแทนไม้ หรือวัสดุอื่น เพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป
และหากผลิตภัณฑ์ใดต้องการสร้างลวดลาย ให้ใช้พิมพ์ทำจากทองแดง ติดเข้ากับเครื่องมือไฟฟ้า เพื่อสร้างความร้อน ก่อนกดพิมพ์ลงในเนื้อไม้ แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น โดยผลิตภัณฑ์หลักนำมาลงลาย อาทิ แก้วน้ำ ชุดน้ำชา กาแฟ เชี่ยนหมาก เป็นต้น
"ช่วงแรกไม่มีใครทำเป็น อาศัยฝึกฝนพัฒนาไปเรื่อย ได้ช่างจากที่อื่นซึ่งเขาผลิตสินค้าจากไม้เทพทาโร แต่ยังไม่ชำนาญนักช่วยสอน หน้าตาพะยูนตอนแรกจึงคล้ายปลาช่อน แต่มีคนซื้อนะ กระทั่งได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการ ส่งช่างภาคเหนือมาสอน ฝีมือของสมาชิกจึงเริ่มพัฒนาขึ้น"
สินค้าหลากหลายรายการ
ทำรายได้สูงนับแสนบาท
จากสมาชิก 10 คน ปัจจุบันขยับเพิ่มเป็น 38 คน โดยแต่ละคนแบ่งงานไปทำตามความถนัด ส่วนสถานที่ผลิตภายในบ้านของตนเอง เพื่อความสะดวก อีกทั้งยังช่วยสอนลูกหลานที่มีความสนใจ เพราะนอกจากก่อเกิดรายได้เพิ่มภายในครอบครัว ยังเห็นคุณค่าของการทำงานด้วย
"สมาชิกส่วนใหญ่นำเวลาว่างจากกรีดยางมาผลิต โดยจ่ายค่าแรงเป็นชิ้น เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือนราว 10,000 บาท สำหรับสมาชิกคนเก่ามีหน้าที่สอนคนใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนจึงเกิดความชำนาญ ตอนนี้สมาชิกทั้งหมด 38 คน ผลิตสินค้าไปตามความถนัด เช่น ทำพวงกุญแจ แกะสลัก เขียนลาย ซึ่งสินค้าไม่ได้มุ่งเน้นความสวยงามอย่างเดียว แต่ใส่ประโยชน์ใช้สอย เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อ"
ถามถึงยอดจำหน่าย คุณเรวัฒน์ ว่า จากเริ่มต้นเดือนแรก 70,000-80,000 บาท ปัจจุบันตัวเลขขยับ 300,000 บาท ด้วยเพราะตลาดจัดจำหน่ายกว้างขึ้น ทั้งในส่วนของหน้าร้านประจำบนพื้นที่ของตนเองตรงข้ามวัดเขากอบ และปากทางเข้าถ้ำเล

"จากเคยได้กำไร 30 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อก่อนไม่ต้องซื้อไม้เทพทาโร แต่ปัจจุบัน 1 คันรถกระบะ น้ำหนักไม่เกิน 1 ตัน ประมาณ 3,000-4,000 บาท และถึงแม้มีมากในพื้นที่และรวมไปถึงจังหวัดอื่น อาทิ ปัตตานี นครศรีธรรมราช ยะลา สุราษฎร์ธานี แต่เพื่ออนาคต จึงปลูกทดแทน ซึ่งไม้เหมาะนำมาใช้ผลิต ต้องมีอายุการปลูกหลายสิบปี"

คุณเรวัฒน์ ยังกล่าวเพิ่มเติม ในส่วนของผลกำไรหักไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนภายในตำบล เช่น การจัดแข่งขันกีฬา ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมเกิดความรักสามัคคี ที่สำคัญ เขาเหล่านั้นจะไม่หันไปสนใจยาเสพติด
นอกจากผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและของประดับตกแต่งบ้านรูปพะยูน ยังมีสินค้าแบบอื่นทั้งจัดทำขึ้นเอง และลูกค้าสั่งผลิต อาทิ พระพุทธรูป เจ้าแม่กวนอิม มังกร ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ อย่าง แก้วน้ำ ชุดชา กาแฟ กับสนนราคาขาย เริ่มต้นถูกสุด 10 บาท กระทั่งสูงสุดหลักแสนบาท
"ไม้ทุกชิ้นไม่ทิ้ง แม้กระทั่งเศษไม้นำมาบรรจุถุงจำหน่ายในราคา 10 บาท เหมาะนำไปวางในที่อับชื้น ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ ห้องนอน ด้วยเพราะกลิ่นหอม ปลวกและแมลงจึงไม่รบกวน ซึ่งความหอมนี้เองถือเป็นความโดดเด่นของเนื้อไม้ ส่งผลให้ผู้คนสนใจซื้อหาไปเป็นของขวัญของฝาก โดยลักษณะงานผลิต ไม่ลงสี ไม่เคลือบเงา เพื่อคงความหอมของเนื้อไม้ไว้"

คู่แข่งเกิดไม่ใช่ปัญหา ช่วยกันพัฒนาผลงาน

แม้ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันเพิ่มขึ้นรวม 4 กลุ่ม แต่คุณเรวัฒน์ ไม่ถือเป็นคู่แข่งขัน แต่กลับส่งผลให้เกิดการพัฒนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน "ถึงแม้ผลิตสินค้าหลักอย่างพะยูนเหมือนกัน แต่ช่างแต่ละคนฝีมือต่างกัน หน้าตาท่าทางของพะยูนจึงต่างไปตามจินตนาการ และแม้ส่งไปจำหน่ายที่เดียวกัน ไม่ถือเป็นปัญหา เพราะผู้ตัดสินใจซื้อคือลูกค้า"
นอกจากเปิดหน้าร้านประจำ คุณเรวัฒน์ยังขยายตลาดออกงานแสดงสินค้าเฉลี่ยปีละ 5 ครั้ง ทั้งในจังหวัดตรังและกรุงเทพฯ และด้วยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเยาวชนต้านยาเสพติด บรรจุอยู่ในสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จึงไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ เพราะได้แรงสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ
"เทศกาล และไฮซีซัน ลูกค้าให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยว ยอดขายจึงอยู่ในพื้นที่ ส่วนช่วงโลว์ซีซัน นักท่องเที่ยวน้อยราย แต่โชคดีเพราะได้เดินทางไปออกงานแสดงสินค้า ถือเป็นการประชาสัมพันธ์กลุ่มด้วย ผมไม่ได้ส่งสินค้าไปขายกับร้านจำหน่ายของฝากจังหวัดอื่น เพราะต้องการให้ผลิตภัณฑ์นี้ประจำอยู่ในจังหวัดตรังมากกว่า เช่น สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมชื่อดังหลายแห่ง สนามบิน และศูนย์โอท็อป ประจำจังหวัด"
คุณเรวัฒน์ กล่าวถึงกลุ่มลูกค้าหลักนักท่องเที่ยวในประเทศ รวมไปถึงชาวต่างชาติบ้าง อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งเขาให้ความสนใจงานฝีมือ

"ตอนนี้เท่าที่ดูตลาด ความต้องการยังมากอยู่ แรงงานผลิตทำไม่ทัน หากยอดสั่งซื้อเข้ามามาก ต้องกระจายงานให้กลุ่มอื่นช่วย แต่กระนั้นพยายามคิดพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะลีลาท่าทางของพะยูน โดยช่างจะเป็นผู้ออกแบบจินตนาการเอง"

สำหรับนักท่องเที่ยวท่านใดเดินทางไปจังหวัดตรัง อย่าลืมแวะอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากไม้เทพทาโร ติดไม้ติดมือเป็นของขวัญของฝาก แต่หากสนใจติดต่อกลุ่มเยาวชนต้านยาเสพติด ตั้งอยู่เลขที่ 78/1 หมู่ 1 ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โทรศัพท์ (081) 895-0832, (075) 500-032